คำนามนับได้ พหูพจน์ (plural noun) และการเปลี่ยนคำนามเอกพจน์
คำนามนับได้พหูพจน์ คือ คำนามที่สามารถนับจำนวนได้ และมีจำนวนมากกว่า 1 ไม่ว่าจะเป็น 1 ชิ้น 1 ตัว 1 คน 1 อัน เป็นต้น โดยในภาษาอังกฤษ จะมีหลักไวยากรณ์ภาษาอังกฤษสำหรับการเขียนคำศัพท์ที่เป็นคำนามเอกพจน์ และคำนามพหูพจน์ ดังนี้
แกรมม่า กฎการเปลี่ยนรูปคำนามเอกพจน์ เป็นคำนามพหูพจน์
1. คำนามปกติทั่วไป จะเติม s ที่ท้ายคำนาม ตัวอย่าง เช่น
building แปลว่า ตึก เติม s เป็น buildings หมายถึง ตึกหลายตึก
job แปลว่า งาน เติม s เป็น jobs หมายถึง งานหลายงาน
minute แปลว่า นาที เติม s เป็น minutes หมายถึง เวลาหลายนาที
2. คำนามภาษาอังกฤษ ที่สะกดลงท้ายด้วย s / ss / sh / ch / o / x / z ให้เติม es ตัวอย่าง เช่น
class แปลว่า ชั้นเรียน เติม es เป็น classes หมายถึง หลายชั้นเรียน
box แปลว่า กล่อง เติม es เป็น boxes หมายถึง หลายกล่อง
brush แปลว่า แปรง เติม es เป็น brushes หมายถึง แปรงหลายอัน
ในหัวข้อนี้ มีข้อควรระวังเพิ่มเติม คือ
2.1 คำนามบางคำ ลงท้ายด้วย o แต่เติมเพียงแค่ s ไม่เติม es ตัวอย่าง เช่น
radio (วิทยุ) เติมแค่ s เป็น radios
piano (เปียโน) เติมแค่ s เป็น pianos
zoo (สวนสัตว์) เติมแค่ s เป็น zoos
2.2 คำนามบางคำอย่างเช่น ox (วัวเพศผู้) ก็ไม่เป็นไปตามกฎการเติม es เพราะจะใช้การเปลี่ยนรูปเมื่อทำเป็นคำนามพหูพจน์ สะกดเป็น oxen
2.3 คำนามภาษาอังกฤษบางคำ ลงท้ายการสะกดด้วยตัว o แต่สามารถทำเป็นนามพหูพจน์ได้โดยการเติม s หรือ es ก็ได้
3. คำนามที่ลงท้ายด้วย y ให้ดูตัวอักษรหน้า y ว่าเป็นสระหรือพยัญชนะ ซึ่งถ้าหากหน้า y เป็นสระ คือ a, e, i, o, u ให้เติม s ที่ท้ายคำนามได้เลย แต่ถ้าหากเป็นพยัญชนะ ให้ทำการเปลี่ยน y เป็น i แล้วเติม es ตัวอย่าง เช่น
tray (ถาด) ทำเป็นพหูพจน์โดยเติม s ได้เลย เป็น trays
sky (ท้องฟ้า) ทำเป็นพหูพจน์โดยการตัด y ออก แล้วเติม ies เป็น skies
4. คำนามบางคำ จะไม่เติม s หรือ es แต่จะใช้วิธีการสะกดใหม่ไปเลย หรือที่เรียกว่า เปลี่ยนรูป ตัวอย่างเช่น
man (ผู้ชาย) men (ผู้ชายหลายคน)
foot (เท้าหนึ่งข้าง) feet (เท้าหลายข้าง)
child (เด็ก) children (เด็กหลายคน)
5. คำนามเอกพจน์ที่ลงท้ายด้วย f หรือ fe ให้เปลี่ยนเป็น ves เมื่อต้องการทำเป็นนามพหูพจน์ ตัวอย่างเช่น
life (ชีวิต) ทำเป็นพหูพจน์ คือ lives
shelf (ชั้นวางของ) ทำเป็นพหูพจน์ คือ shelves
ข้อควรระวัง คือ
5.1 คำนามบางคำที่ลงท้ายด้วย f หรือ fe แต่เติม s ได้เลย เช่นคำว่า
roof (หลังคา) เติม s ได้เลย เป็น roofs
chef (หัวหน้าพ่อครัว, เชฟ) เติม s ได้เลย เป็น chefs
5.2 คำนามบางคำลงท้ายด้วย f แต่สามารถเติมได้ทั้ง s และ ves
6. คำนามบางคำ จะสะกดเหมือนกันทั้งเอกพจน์และพหูพจน์ คือไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเติมอะไรเลย ไม่ว่าจะมีจำนวนเท่าไรก็ตาม เช่น deer (กวาง), fish (ปลา)
7. คำนามบางคำ จะมีความหมายเป็นพหูพจน์อยู่เสมอ เช่น
police หมายถึง ตำรวจหลายๆ คน
8. คำนามบางคำ มีรูปพหูพจน์เสมอ ตัวอย่างเช่น
jeans (กางเกงยีนส์), savings (เงินออม), glasses (แว่นตา)
9. คำนามบางคำจะมีรูปเหมือนคำนามพหูพจน์ คือ ลงท้ายด้วย s แต่ทำหน้าที่เป็นคำนามนับไม่ได้ และใช้เหมือนกับรูปเอกพจน์ เช่น
news แปลว่า ข่าว
10. คำนามที่เป็นคำนามประสม (Compound nouns) มีวิธีการเปลี่ยนเป็นคำนามประสมพหูพจน์ โดยส่วนใหญ่จะเปลี่ยนที่คำนามตัวหลัง เช่น
flight attendant หมายถึง พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน 1 คน ซึ่งทำเป็นพหูพจน์โดยเปลี่ยนคำนามที่อยู่ข้างหลัง เป็น flight attendants
ข้อควรระวังเพิ่มเติม สำหรับกฎการเปลี่ยนคำนามเอกพจน์ เป็นคำนามพหูพจน์ ในภาษาอังกฤษ คือ คำบางคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินหรือกรีก จะมีการสะกดที่แตกต่างออกไปจากกฎที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งผู้เรียนควรจดจำเพิ่มเติม